อาหารเจ หรือมังสวิรัตน์ ดี เมนูอาหารเจ แบบง่ายๆๆ ?

หลายท่านคงคุ้นเคยกับอาหารเจ หรือมังสวิรัตน์เมื่อถึงช่วงเทศกาลกินเจกันดี และหากต้องเดินทางก็เป็นอะไรที่ต้องทำความรู้จักกับอาหารเจกันหน่อยนะคะ
  สำหรับ อาหารเจ เราจะทานในระหว่างเทศกาลกินเจ คือช่วงระหว่างวันขึ้น 1-9 ค่ำเดือน 8 (ตามปฏิทินจีน) ซึ่งตรงกับประมาณเดือนตุลาคม มีระยะเวลาประมาณ 10 วัน โดยมีความเชื่อว่า หากใครกินเจจะได้บุญ ส่งผลให้ชีวิตประสบความสุขความเจริญ ทั้งเป็นการต่อชีวิตให้ยืนยาวต่อไปด้วย หรือในบางคนอาจจะทาน "อาหารเจ" เป็นกิจวัตรประจำวันก็ได้


          แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงอาหารเจ เราต้องหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ทุกชนิด และปรุงอาหารด้วยแป้ง เต้าหู้ ซีอิ๊ว ถั่วเหลือง ถั่วต่าง ๆ รวมทั้งผักนานาชนิด ยกเว้น ผักฉุน 5 ประเภท ที่เป็นผักรสหนัก มีกลิ่นเหม็นคาวรุนแรง ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ และยังมีพิษทำลายพลังธาตุทั้ง 5 ในร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติ นั่นก็คือ
           1.กระเทียม ทั้งหัวกระเทียม ต้นกระเทียม ส่งผลกระทบต่อธาตุไฟของร่างกาย แม้ว่ากระเทียมจะมีสารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอล แต่กระเทียมมีความระคายเคืองสูง อาจไปทำลายการทำงานของหัวใจได้ ผู้เป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือโรคตับ ไม่ควรรับประทานมาก 
           2.หัวหอม รวมไปถึงต้นหอม ใบหอม หอมแดง หอมขาว หอมหัวใหญ่ ซึ่งตามหลักการแพทย์โบราณของจีนเชื่อว่า หัวหอม จะกระทบกระเทือนต่อธาตุน้ำในร่างกาย และไปทำลายการทำงานของไตได้ แม้ว่าหอมแดง จะมีฤทธิ์ช่วยขับลม แก้ท้องอืด แก้ปวดประจำเดือน แต่ไม่ควรบริโภคมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการหลง ๆ ลืม ๆ ได้ง่าย รวมทั้งนัยน์ตาพร่ามัว มีกลิ่นตัว

           3.หลักเกียว หรือที่รู้จักว่า กระเทียมโทนจีน ลักษณะคล้ายหัวกระเทียมที่พบเห็นทั่วไป แต่จะมีขนาดเล็กและยาวกว่า ในทางการแพทย์ของจีนเชื่อว่า หลักเกียว ส่งผลกระทบกระเทือนต่อธาตุดินในร่างกาย และไปทำลายการทำงานของม้าม
           4.กุยช่าย เชื่อกันว่า กุยช่าย จะไปกระทบกระเทือนต่อธาตุไม้ในร่างกาย และทำลายการทำงานของตับ
           5.ใบยาสูบ ไม่ว่าจะเป็นยาเส้น บุหรี่ ของเสพติดมึนเมา อะไรต่าง ๆ จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อธาตุโลหะในร่างกาย และทำงานการทำงานของปอด
และหากต้องการกินเจให้ถูกหลัก เราควรรับประทานผักผลไม้ต่าง ๆ ให้ครบ 5 สีในแต่วัน ตามสีของแต่ละธาตุทั้ง 5 คือ
           1.สีแดง แดงส้ม แสด ชมพู เช่น มะเขือเทศ แครอท พริกสุก มะละกอ แตงโม ฯลฯ ถือเป็นสัญลักษณ์ของธาตุไฟ จะช่วยลดคอเลสเตอรอลส่วนเกิน ลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ สำหรับใครที่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารรสขม ที่จะไปทำอันตรายต่อระบบการไหลเวียนของโลหิต
           2.สีดำ น้ำเงิน หรือ ม่วง เช่น ถั่วดำ เผือก มะเขือม่วง เห็ดหูหนู ลูกหว้า องุ่น เป็นสัญลักษณ์ของธาตุน้ำ มีประโยชน์ต่อไต ส่วนผู้ที่มีปัญหาเรื่องไต ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารรสเค็ม
           3. สีเหลือง ทั้งเหลืองแก่ และเหลืองอ่อน เช่น ฟักทอง ถั่วเหลือง มะม่วง ข้าวโพด กล้วย ทุเรียน เป็นสัญลักษณ์ของธาตุดิน มีประโยชน์ในการบำรุงม้าม แต่ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารรสหวาน
           4. สีเขียว ทั้งสีเขียวเข้ม สีเขียวอ่อน เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง ฝรั่ง ถั่วฝักยาว ถือเป็นสัญลักษณ์ของธาตุไม้ หากรับประทานมาก ๆ จะช่วยบำรุงตับ ส่วนผู้ที่มีปัญหาเรื่องตับ ควรงดทานอาหารรสเปรี้ยว
           5. สีขาว เช่น ลูกเดือย ผักกาดขาว มะพร้าว น้อยหน่า ถือเป็นสัญลักษณ์ของธาตุโลหะ มีประโยชน์ต่อปอด สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องปอด ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารรสเผ็ด
          อย่างไรก็ตาม ผู้ทานอาหารเจ ควรทานอาหารให้ครบทั้ง 5 สี ตามธาตุทั้ง 5 โดยสลับกันไปในแต่ละวัน เพื่อให้ได้สารอาหาร และคุณค่าที่ครบถ้วน


ข้อห้ามและข้อปฏิบัติในการกินเจ

           1 งดเว้นเนื้อสัตว์ หรือทำอันตรายต่อสัตว์ 

           2 งด นม เนย หรือน้ำมันที่มาจากสัตว์ 

           3 งดอาหารรสจัด หมายถึง อาหารรสเผ็ดมาก เค็มมาก หวานมาก เปรี้ยวมาก 

           4 งดผักกลิ่นฉุน 5 ชนิด คือ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย ใบยาสูบ รวมทั้งเครื่องเทศที่มีกลิ่นฉุน 

           5 รักษาศีล 5 

           6 รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์ให้คงที่ พูดจาไพเราะ

           7 ทำบุญ ทำทาน บางคนที่เคร่งอาจนุ่งขาว ห่มขาว 

           8. ไม่ใช้จานชามปะปนกัน และต้องกินอาหารที่คนกินเจด้วยกันปรุง สำหรับคนที่เคร่ง 


เมนูอาหารเจ

          และวันนี้เราก็มี สูตรอาหารเจ เมนูอาหารเจแบบง่าย ๆ มาฝากกันด้วยค่ะ


กาแฟเจ

          ก่อนจะไปดู เมนูอาหารเจ ก็ขอแนะนำคอกาแฟกันเสียก่อน เพราะในช่วงเทศกาลกินเจนี้ อาจมีหลาย ๆ คนที่ไม่อยากดื่มกาแฟมาก ๆ แต่ก็ไม่กล้า เนื่องจากอาจมีส่วนผสมของนมและเนยในผลิตภัณฑ์ 3 in 1 ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ดื่มกาแฟได้เพียงบางเมนูเท่านั้น เช่น อเมริกาโน่ (กาแฟดำทั้งร้อนและเย็น), Soy Latte (กาแฟใส่น้ำนมถั่วเหลืองเจ) หรือทางที่ดีก็ชงกาแฟดื่มเอง โดยเลือกครีมเทียมที่ทำจากถั่วเหลือง ซึ่งมีขายตามท้องตลาด หรือซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ ๆ แทนก็ได้ แล้วเติมน้ำเชื่อม หรือน้ำตาลตามชอบ เพียงเท่านี้ก็จะได้ กาแฟเจ ช่วยให้กระปรี้กระเปร่าในวันทำงานได้แล้วล่ะ

          เพิ่มเติมอีกนิดสำหรับใครที่อยากดื่ม กาแฟเจ แบบใส่นม ก็ให้ใช้น้ำนมถั่วเหลืองเจ แทนได้นะจ๊ะ ที่ต้องบอกว่าน้ำนมถั่วเหลืองเจโดยเฉพาะ เนื่องจากน้ำนมถั่วเหลืองทั่วไปมักจะมีนมผงผสมอยู่ด้วยนั่นเอง


ต้มจับฉ่ายเจ


 ส่วนผสม ต้มจับฉ่ายเจ

           กะหล่ำปลี 1 หัว
           คะน้า 1 ถ้วย
           ซุงฉ่าย (คล้ายกวางตุ้ง แต่ต้นใบใหญ่กว่า)   1  ถ้วย
           ขึ้นฉ่าย   1  ถ้วย
           ผักกวางตุ้ง   1 ถ้วย
           หัวไชเท้า 1  หัว
           เห็ดหอม  1 ถ้วย
           รากผักชี   3 ราก
           เต้าหู้ทอด 2 ก้อน
           น้ำตาลปีบ 1 ช้อนโต๊ะ 
           งาคั่ว 2 ช้อนโต๊ะ 
           เกลือ 2 ช้อนชา 
           ซีอิ๊ว 2 ช้อนโต๊ะ 
           น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ 
           ซอสถั่วเหลืองปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ 
           ซีอิ๊วดำ 1 ช้อนโต๊ะ

 วิธีทำ ต้มจับฉ่ายเจ

          เริ่มจากผ่ากะหล่ำปลี เป็น 8 ซีก และหั่นผักทุกชนิดเป็นชิ้นใหญ่ จากนั้นโขลกงาคั่ว รากผักชีรวมกัน แล้วเจียวกับน้ำมันพืชจนหอม ใส่ต้นซุงฉ่ายลงผัด แล้วผัดผักชนิดอื่น ๆ ตามไป ใส่น้ำ ใส่เกลือ ซีอิ๊วขาว น้ำตาลปีบ ซอสถั่วเหลืองปรุงรส เมื่อเสร็จแล้วให้ตักผัดผักที่ได้ลงหม้อ แล้วใส่เห็ดและเต้าหู้ที่ทอดไว้เรียบร้อยแล้ว ปรุงรสด้วยซีอิ๊วดำ เติมน้ำต้มให้เปื่อยยกลงเสิร์ฟ

เห็ดหอมน้ำแดง

 ส่วนผสม เห็ดหอมน้ำแดง

           เห็ดหอมสด  15  ดอก
           แป้งมัน  1/2 ช้อนโต๊ะ
           งาคั่วบด  1/2 ช้อนโต๊ะ
           น้ำมันพืช  2 ช้อนโต๊ะ
           ผงพะโล้ 1/4 ช้อนชา 
           ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนโต๊ะ 
           ซอสถั่วเหลืองปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ 
           ซีอิ๊วดำ 1 ช้อนชา 
           น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา 
           เกลือป่น1/2 ช้อนชา 
           พริกไทย 1/2 ช้อนชา

 วิธีทำ เห็ดหอมน้ำแดง

          ตัดก้านเห็ดหอมออกโดยใช้มีดบาก 2-3 รอย แต่อย่าให้ขาดแล้วทุบให้แบน เจียวงาในน้ำมันพอร้อนแล้วใส่เห็ดลงไปผัด เติมน้ำ 1 ถ้วย เคี่ยวจนสุกแล้ว จากนั้นใส่แป้งละลายน้ำลงไปเคี่ยวให้เดือดสักครู่ ปรงุรสก่อนจะยกลงเสิร์ฟ

ข้าวผัดเจ

 ส่วนผสม ข้าวผัดเจ

           ข้าวสวย 1 ถ้วย
           แครอทหั่นเป็นลูกเต๋า 1/4 ถ้วย
           เห็ดหอม 2 ดอก (หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ )
           ถั่วฝักยาว หั่น 1/2 ซม. 1/4 ถ้วย
           เต้าหู้สีเหลืองหั่นเป็นลูกเต๋ม 1/2 ถ้วย
           น้ำตาลทราย      1      ช้อนชา
           ซีอิ๊วขาว     1/2     ช้อนโต๊ะ
           น้ำมันพืช     2     ช้อนโต๊ะ
           ซีอิ๊วดำ     1/2     ช้อนชา

 วิธีทำ ข้าวผัดเจ

          ตั้งไฟอ่อน ใส่น้ำมันพืชลงในกระทะ 1 ช้อนโต๊ะ นำเห็ดหอมที่หั่นแล้วลงไปผัดจนเริ่มเหลือง ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวแล้วตักขึ้นพักไว้ จากนั้นใส่น้ำมันในกระทะ ตั้งไฟให้ร้อน ใส่ข้าวลงผัด ตามด้วยเต้าหู้เหลือง ถั่วฝักยาว แครอท และเห็ดหอมที่ผัดไว้เรียบร้อยแล้ว ผัดส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยซีอิ๊วดำ  ซีอิ๊วขาว น้ำตาลทราย เมื่อผัดส่วนผสมจนสุกทั่วกันแล้วยกลงเสิร์ฟได้

ผัดหมี่เจ

 ส่วนผสม ผัดหมี่เจ

           หมี่เหลือง 1 ถ้วย
           ผักคะน้า 1 ต้น
           เห็ดฟาง 4-5 ดอก
           เห็ดหอมปรุงรสหั่นเสี้ยว  2  ดอก
           เต้าหู้เหลืองหั่นเล็ก 1ช้อนโต๊ะ
           หัวไชโป๊สับละเอียด 1  ช้อนโต๊ะ
           ถั่วงอกเด็ดหาง 1/2 ถ้วย
           ถั่วลิสงคั่วป่น  1 ช้อนโต๊ะ
           พริกป่น 1-2 ช้อนชา
           น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
           ซีอิ๊วขาว  1 ช้อนโต๊ะ
           น้ำส้มสายชู  1 ช้อนโต๊ะ
           น้ำซุปผัก 1/2 ถ้วย
           น้ำมันพืช 3-4 ช้อนโต๊ะ

 วิธีทำ ผัดหมี่เจ

          หั่นผักคะน้าเป็นชิ้นพอดี ส่วนเห็ดฟางให้เฉือนโคนที่สกปรกออก แล้วผ่าครึ่ง จากนั้นใสน่้ำมันในกระทะ ตั้งไฟให้ร้อน นำผักคะน้า เห็ดฟาง เห็ดหอม เต้าหู้ หัวไชโป๊ ลงไปผัดให้หอม ใส่หมี่เหลือง คลุกเคล้าผัดให้ทั่ว แล้วใส่น้ำซุป ผัดต่อไปจนแห้ง ปรุงรสด้วยพริกป่น น้ำตาล ซีอิ๊วขาว น้ำส้มสายชู ใส่ถั่วลิสงป่น ผัดสักครู่ ใส่ถั่วงอก (แบ่งไว้โรยหน้าเล็กน้อย) พอทุกอย่างสุก ยกลงตักใส่จานเสิร์ฟพร้อมกับมะนาวหั่นเสี้ยว และถั่วงอกโรยหน้า